
การอุดฟันมีเพื่อแก้ไขปัญหาของฟันหลายประการ ได้แก่ ฟันผุ ฟันสึก ฟันห่าง คอฟันสึก แก้ไขรูปร่างฟัน เป็นต้น
การคิดค่าใช้จ่ายอุดฟัน จะขึ้นอยู่กับจำนวนด้าน และขนาดของแต่ละด้าน
วัสดุประเภทอะมัลกัม ด้านแรก 600-700 บาท ด้านต่อไป 200-300 บาท
วัสดุประเภทสีเหมือนฟัน ด้านแรก 600-800 ด้านต่อไป 200-400 บาท
กรณีที่ฟันผุลึกมาก ใกล้โพรงประสาทฟัน จะมีการรองพื้นโพรงประสาทฟัน ด้วยวัสดุประเภท Glass ionomer เพิ่มจากค่าอุดฟันปกติ 100-200

การแบ่งด้านของการอุดฟัน

การรองพื้นโพรงประสาทฟัน

การเลือกใช้วัสดุอุดฟัน
- อุดฟันสีเงิน (อะมัลกัม) การอุดฟันแบบนี้เหมาะกับการอุดฟันหลังที่ไม่ต้องการความสวยงาม มีความแข็งแรงสูง อุดได้รวดเร็ว ตัววัสดุไม่สามารถยึดติดกับฟันได้โดยตรง ดังนั้นจะต้องมีการแต่งฟันให้มีลักษณะที่วัสดุลงไปล็อกภายในได้จึงไม่หลุด
- อุดฟันสีเหมือนฟัน คอมโพสิท เป็นวัสดุที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากความสวยงาม สีเหมือนฟัน ส่วนเรื่องความแข็งแรงในปัจจุบัน วัสดุได้พัฒนาไปมากพอที่จะสามารถรับแรงบดเคี้ยวได้แล้ว แต่ในเรื่องความแข็งแรงก็ยังเป็นรองวัสดุประเภทอะมัลกัม ตัววัสดุสามารถยึดติดกับเนื้อฟันได้โดยตรงโดยการใช้สารยึดติด (adhesive & bonding agent) จึงทำให้สูญเสียเนื้อฟันน้อยกว่าอะมัลกัม เนื่องจากไม่ต้องกรอแต่งเนื้อฟันให้วัสดุลงไปล็อกกับเนื้อฟัน
เหมาะสมทั้งการอุดฟันหน้า ฟันหลัง คอฟัน แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถอุดในบริเวณที่ใกล้เหงือกมากหรือไม่สามารถกันน้ำลายได้ อะมัลกัมจะเหมาะสมมากกว่าในกรณีที่ต้องการอุดฟันในบริเวณที่ไม่สามารถกันน้ำลายได้
- อุดฟันสีเหมือนฟัน Glass ionomer (GI) เป็นวัสดุประเภทสีเหมือนฟัน ราคาจะสูงกว่าคอมโพสิท ความแข็งแรงและความสวยงามน้อยกว่าคอมโพสิท แต่มีข้อดีคือตัววัสดุสามารถใช้อุดบริเวณที่ใกล้เหงือกมาก สามารถทนความชื้นได้ดีระดับหนึ่ง และตัววัสดุสามารถปล่อยฟลูออไรด์ได้หลังจากอุดไปแล้ว ทำให้ลดโอกาศการเกิดฟันผุได้ จึงมักจะใช้ในบริเวณที่ผุลึกมาก ใกล้เหงือกหรือใต้เหงือก หรือในคนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อฟันผุมาก

วัสดุสีโลหะ และ วัสดุสีเหมือนฟัน
การอุดฟันห่าง
การอุดฟันห่างโดยปกติจะอุดด้วยวัสดุประเภทสีเหมือนฟัน คอมโพสิท มีความสวยงาม แข็งแรงพอที่จะกัดอาหารทั่วๆไปได้ แต่ก็ไม่ควรกัดอาหารที่แข็งจนเกินไป แต่ถ้าขนาดฟันห่างมาก หรือห่างๆหลายซี่ ควรพิจารณาจัดฟันแทนการอุดฟันเพื่อปิดช่องว่าง

1 ช่องว่างฟันห่าง จะต้องอุดทั้ง 2 ซี่ ซ้ายและขวา เพื่อความสมดุล ค่าอุดฟันข้างละ 1200-1500 บาท ดังนั้น การอุดฟันห่าง 1 ช่องจะรวมเป็น 2400-3000 บาท ยกเว้นฟันห่างด้านข้าง อาจจะอุดด้านเดียวได้

อุดช่องว่างฟันตรงกลางจะต้องอุดฟันทั้ง 2 ซี่ ซ้ายขวา เพื่อความสมมาตร