แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน
ดึงฟันปิดช่องว่าง จัดฟันไม่ต้องใส่ฟันปลอม
คำตอบคือ “ได้ครับ” แต่…ไม่ใช่ทุกกรณี ลองดูตัวอย่างกันก่อน
คนไข้บางคนเมื่อมีอาการปวดฟันมากจนทนไม่ไหว เลือกที่จะถอนฟันออกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่รู้หรือไม่ว่าหลังจากถอนฟันไปแล้วอาจจะมีปัญหาตามมาได้มากมายเลยทีเดียว เช่น ฟันล้ม ฟันหน้าห่าง ซึ่งโดยทั่วไปเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ คนไข้ควรจะต้องใส่ฟันปลอมทดแทนฟันที่ถูกถอนออกไป
ในบางกรณี เราอาจจะใช้การจัดฟันช่วยเคลื่อนฟันข้างๆรอยถอนฟัน ดึงฟันให้ชิดกันได้โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่ทำได้ มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้การดึงฟันปิดช่องว่างสำเร็จ
1. ลักษณะฟันจัด
โดยทั่วไปถ้าคนไข้จัดฟันมีฟันซ้อนเกมากหรือฟันยื่นมากอยู่แล้ว จะมีการถอนฟันเพื่อสร้างพื้นที่ในขากรรไกรเพื่อให้ฟันเรียงตัวได้ง่ายขึ้น การถอนฟันในการจัดฟันมักจะถอนเป็นคู่ เช่น 2 หรือ 4 ซี่ ดังนั้นหากคนไข้มีฟันที่สูญเสียไปแล้ว ก็จะถอนฟันเพื่อจัดฟันน้อยลง (เช่นจากที่ต้องถอน4ซี่ กลายเป็นถอน 3ซี่แทน) ปัจจัยข้อนี้ถือว่ามีผลกับความสำเร็จของการดึงฟันปิดช่องว่างมาก อ่านต่อ การจัดฟันแบบถอนฟัน
ฟันซ้อนเกมาก ฟันยื่นมาก
ฟันห่าง ฟันยื่นน้อย ฟันซ้อนเกน้อย
สังเกตฟันหน้าล่างที่ซ้อนเกมาก กรณีนี้เราจะต้องการดึงฟันเขี้ยวและฟันกรามน้อยไปด้านในมาก จึงสามารถปิดช่องว่างได้ไม่ยาก
2. ตำแหน่งฟันที่ถอน
ฟันกรามบนมีขนาดเล็กกว่าฟันล่าง ทำให้ช่องว่างมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และฟันบนจะมีมวลกระดูกอ่อนกว่าฟันล่าง ทำให้ฟันเคลื่อนได้ง่ายกว่า
ฟันกราม/กรามน้อยบน
ฟันกราม/กรามน้อยล่าง
กรณีนี้เป็นเคสจัดฟันแบบไม่ถอนฟัน แต่คนไข้มีฟันกรามน้อยบนถูกถอนมาก่อน จึงใช้หมุดจัดฟันช่วยดึงฟันกรามมาข้างหน้าปิดช่องว่างได้
3. ถอนฟันนานแล้วหรือยัง
หลังจากถอนฟันไป หลุมฟันจะค่อยๆปิดตัวลง มีกระดูกสร้างใหม่ขึ้นใหม่จนสมบูรณ์ใน3-4 เดือน หลังจากนั้นกระดูกจะค่อยๆฝ่อตัวลงเนื่องจากไม่ได้รับแรงบดเคี้ยว แต่กระดูกส่วนนั้นจะแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งรอนานไปจะยิ่งดึงฟันมาแทนในช่องว่างยาก
ถอนไม่เกิน6เดือน
ถอนนานเกิน6เดือน หรือกระดูกฝ่อ
รอยถอนฟันไม่เกิน6เดือน จะปิดช่องว่างได้ง่ายกว่า จากรูป คนไข้พึ่งจะถอนฟันมาได้ 1 สัปดาห์
4. ขนาดช่องว่าง
ขนาดช่องว่างน้อยจะดึงปิดช่องว่างง่ายกว่า ดังนั้นหากฟันที่ถอนเป็นฟันขนาดเล็กก็จะง่ายกว่าฟันขนาดใหญ่ แต่ในบางกรณีช่องว่างฟันกรามใหญ่ก็สามารถปิดได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฟันล้มมาปิดช่องว่างเองโดยธรรมชาติบ้างแล้ว
ช่องว่างน้อยกว่า 7 มิลลิเมตร
ช่องว่างมากกว่า 7 มิลลิเมตร
ช่องว่างยิ่งเล็กจะยิ่งดึงชิดได้ง่าย จากรูป ช่องว่างขนาด 2มิลลิเมตร
5. จำนวนฟันที่ถอน
หากแบ่งฟันเป็น 4 ส่วน ขวาบน ซ้ายบน ซ้ายล่าง ขวาล่าง โดยทั่วไปจะสามารถปิดช่องว่างได้เพียงส่วนละ1ซี่ หากถอนฟัน2ซี่ขึ้นไปในแต่ละส่วน โอกาสปิดช่องว่างได้หมดจะน้อยมาก ก็อาจจะจัดฟันเพื่อลดจำนวนฟันที่ต้องใส่ทดแทนได้
ถอนไปแค่1ซี่ ในแต่ละส่วน
ถอนมากกว่า1ซี่ในแต่ละส่วน
จากภาพ เป็นภาพจากคนไข้คนเดียวกันด้านซ้ายและด้านขวา คนไข้สูญเสียฟันกรามใหญ่ทั้งหมด 4 ซี่ จาก4ส่วน บนขวา บนซ้าย ล่างขวา ล่างซ้าย จึงสามารถทำให้ดึงฟันชิดได้ทั้งหมด สามารถจัดได้สมบูรณ์จนคนไข้ไม่ต้องใส่ฟันปลอมเลยแม้แต่ซี่เดียว
6. อายุ
คนไข้อายุน้อยฟันมักจะตอบสนองต่อการจัดฟันได้ดีกว่าคนไข้ที่อายุมากกว่า
อายุน้อยกว่า25
อายุมากกว่า25
**หมายเหตุ ตัวเลข25ปีนี้ เป็นตัวเลขประมาณการจากประสบการณ์ของทันตแพทย์ผู้เขียนบทความ ไม่มีงานวิจัยอ้างอิง
จากภาพรังสีด้านบน คนไข้อายุ 25 ปี ถึงแม้จะมีช่องว่างขนาด 10 มิลลิเมตร แต่ก็ยังพอจะสามารถปิดช่องว่างได้ดี
7. สุขภาพเหงือกและฟัน
ฟันที่เหงือกและกระดูกรอบรากฟันแข็งแรง จะสามารถรองรับการเคลื่อนฟันได้มากกว่า หากฟันรอบๆช่องว่างฟันไม่แข็งแรง การพยายามดึงฟันรอบๆเข้ามาปิดช่องว่างอาจจะทำให้สุขภาพเหงือกและฟันของฟันรอบๆแย่ลงได้
ไม่มีโรคเหงือก
มีโรคเหงือก
คนไข้อายุ 24 ปี สุขภาพเหงือกและฟันดี สามารถจัดฟันปิดช่องว่างฟันกรามใหญ่ล่างได้ใน 2ปีครึ่ง
หากคนไข้ต้องการจะจัดฟันเพื่อปิดช่องว่างแล้วมีปัจจัยบวกตาม 6 ข้อข้างบนตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป ก็มีแนวโน้มดีที่จะสามารถปิดช่องว่างได้ ไม่ต้องใส่ฟันปลอมหลังจัดฟัน
ข้อเสียสำหรับการจัดฟันปิดช่องว่างก็มีบ้าง ได้แก่
1. มักจะต้องใช้เวลาจัดนานกว่าจัดแบบเปิดช่องว่างทิ้งเอาไว้ใส่ฟันเทียม อาจจะนานขึ้น 6เดือน-1ปีครึ่ง โดยเฉพาะกรณีที่ฟันไม่ยื่น ไม่เก อาจจะจัดนานขึ้นมาก
2. บางตำแหน่งอาจจะทำให้สบฟันและเคี้ยวอาหารไม่ดีเท่าการใส่รากฟันเทียม (แต่ก็ดีกว่าฟันปลอมแบบถอดได้) เพราะฟันที่สบกันอาจจะไม่ใช่ตำแหน่งการสบฟันแบบธรรมชาติ
3. อาจจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษเพิ่มเติมในการช่วยเคลื่อนฟัน เช่น หมุดจัดฟัน เพื่อช่วยควบคุมทิศทางการเคลื่อนให้ดียิ่งขึ้น หรือติดแบร็คเก็ตหลายตัวมากขึ้น
การใช้หมุดจัดฟันช่วยดึงปิดช่องว่าง
4. มีโอกาสปิดช่องว่างไม่สำเร็จ ซึ่งอาจจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการรักษาภายหลัง
จะเห็นได้ว่าการพยายามดึงฟันปิดช่องว่างไม่ได้จะมีแต่ข้อดีเสมอไป ดังนั้น บางกรณี การยอมใส่ฟันเทียมหลังจัดฟันเสร็จแล้วอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามโปรดปรึกษาทันตแพทย์จัดฟันถ้าต้องการจะจัดฟันต้องการแก้ปัญหาเรื่องช่องว่างฟันที่ถูกถอนไปนะครับ ปรึกษาจัดฟัน คลิก ไม่ใช่ทุกเคสที่สามารถดึงฟันปิดช่องว่างได้ ปัจจัยในบทความนี้เป็นปัจจัยหลักๆเท่านั้น อาจจะมีปัจจัยอื่นๆที่ทันตแพทย์จัดฟันต้องพิจารณาร่วมด้วย
ตัวอย่างการจัดฟัน เตรียมช่องว่างไว้ใส่ฟันเทียมหลังจัดฟันเสร็จ
ตัวอย่างการจัดฟันร่วมกับการใส่รากฟันเทียมหลังจากจัดฟันเสร็จแล้ว (ใส่รากฟันเทียม ฟันกรามขวาบนและฟันกรามซ้ายล่าง)
คำถามที่พบบ่อย
ถ้าหมอวางแผนให้ใส่ฟันเทียม ต้องใส่เมื่อไหร่??
ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันปลอม (ถอดได้หรือติดแน่น) หากใส่แบบถอดได้ จะแนะนำให้ใส่หลังจากจัดฟันเสร็จไปแล้ว 6-12 เดือน ซึ่งอาจจะใส่ยุ่งยากเล็กน้อย เพราะต้องใส่สลับกับรีเทนเนอร์ (กรณีใส่ฟันหลายซี่มาก เช่น 6ซี่ขึ้นไป อาจจะเร่งใส่เร็วกว่านี้เพื่อเร่งฟื้นฟูประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหาร)
แต่ถ้าเป็นรากฟันเทียม สามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่ก่อนจัดฟันเสร็จประมาณ 3-6 เดือน เพราะจะต้องฝังส่วนรากเทียมเข้าไปก่อน แล้วรอให้กระดูกยึดดีประมาณ 3-4 เดือน เมื่อจัดฟันเสร็จ ก็สามารถใส่ครอบฟันบนรากฟันเทียมได้เลย หรือหากคนไข้ไม่พร้อมใส่รากเทียมก่อนจัดเสร็จ ก็สามารถเริ่มทำได้ทันทีเมื่อไหร่พร้อมในภายหลัง
แล้วถ้าจัดฟันเสร็จแล้ว ไม่ยอมใส่ฟันเทียมล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?
หากฟันไม่ครบ มีช่องว่าง ฟันข้างเคียงจะมีแนวโน้มล้มเอียงเข้ามาในช่องว่างได้ง่าย ฟันล้ม หากใส่รีเทนเนอร์เอาไว้ก็จะสามารถป้องกันการล้มของฟันได้ แต่เราก็ไม่ควรใส่รีเทนเนอร์ทั้งวันทั้งคืนไปเรื่อยๆ เนื่องจากรีเทนเนอร์ไม่สามารถใส่เคี้ยวอาหารได้ ทำให้ประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหารแย่ลง อย่างช้าที่สุด ควรใส่ฟันเทียมหลังจัดฟันเสร็จไม่เกิน 1 ปี
ถ้าไม่ใส่ฟันเทียม ไม่ค่อยใส่รีเทนเนอร์ ฟันก็จะค่อยๆล้ม สุดท้ายก็อาจจะต้องมาจัดฟันใหม่ สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก
สุดท้าย
การจัดฟันปิดช่องว่างให้ไม่ต้องใส่ฟันปลอม เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่ปล่อยให้ฟันสูญเสียไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเรารักษาสุขภาพฟันให้ดีไว้ก่อนจะมีความยุ่งยากน้อยกว่ามาก ดังนั้น เราควรดูแลสุขภาพฟันให้ดี แปรงฟันวันละ2ครั้ง ลดของหวาน ไปพบหมอฟันเพื่อตรวจฟันทุก 6-12 เดือน เท่านี้ก็จะมีสุขภาพฟันที่ดีแล้วครับ
ใครมีคำถามอะไรเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ใน comment ด้านล่างเลยนะครับ
แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน