แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน
จัดฟันต้องถอนฟันหรือไม่?? มาดูคำตอบกัน
หลายๆคนอยากจะจัดฟันเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง อาจจะเพราะมีฟันยื่น หรือฟันซ้อนเก แต่หลังจากได้ไปปรึกษาหมอจัดฟันก็ถึงกับถอยกรูดเนื่องจากต้องถอนฟัน บางคนถึงกับช็อกเพราะหมอบอกให้ถอนฟันถึง 8 ซี่ หมดปากพอดี วันนี้ทางคลินิกทันตกรรม 108 จะไขข้อข้องใจให้ว่า ถอนฟันเพื่อจัดฟัน ต้องถอนหรือไม่ เพราะอะไร
ประการแรก คนที่จะต้องถอนฟัน 8 ซี่ ก็มีอยู่จริง แต่ไม่ใช่ทุกคนครับ 8 ซี่ นี่คือจะเป็นฟันคุด 4 ซี่ และฟันกรามน้อยอีก 4 ซี่ ซึ่งโดยทั่วไป การจัดฟันแบบถอนฟันกรามน้อยออก 4 ซี่ มักจะทำในกรณีที่มีฟันซ้อนเก ฟันยื่น ปานกลางถึงมาก เพื่อสร้างพื้นให้สามารถดึงฟันที่ซ้อนเกหรือยื่นให้เข้ามาในบริเวณฟันที่ถูกถอนออกไป ซึ่งถ้าหากปัญหาของคนไข้ไม่ใช่ฟันยื่นมากหรือซ้อนเกมาก ก็อาจจะจัดฟันแบบไม่ถอนฟันได้
ส่วนฟันคุดจะเป็นฟันที่มักจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมามากมายอยู่แล้ว หมอฟันจึงมักจะแนะนำให้ถอนฟันคุดออกแม้จะไม่ได้ต้องการจัดฟันก็ตาม แล้วยิ่งถ้าต้องการจัดฟัน ฟันคุดเป็นปัญหาอย่างแรกๆที่ควรจะต้องจัดการก่อนจะจัดฟัน เพราะเป็นต้นเหตุของเหงือกอักเสบ ปวดฟัน ทำความสะอาดยากจนทำให้ฟันผุได้ง่าย แต่ถ้าฟันไม่ได้คุด ขึ้นได้ถูกตำแหน่ง ดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ไม่ผุ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องถอนออกครับ
ปัจจุบัน การถอนฟันแทบจะไม่เจ็บแล้ว!!
เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปมากในปัจจุบัน ในทางทันตกรรมก็เช่นกัน เวชภัณฑ์ที่ใช้ในการถอนฟันก็พัฒนามามากกว่าในอดีตมาก ทั้งยาชาเฉพาะที่สำหรับทางทันตกรรม เข็มฉีดยา ยาชาที่ใช้ทาเฉพาะที่ ต่างก็พัฒนาไปหมดแล้ว การถอนฟันที่ปัจจุบัน คนไข้แทบจะไม่รู้สึกอะไรเลยระหว่างการถอน อาจจะมีเจ็บบ้างเล็กน้อยในการใส่ยาชา แต่ก็น้อยกว่าในอดีตมากเพราะทันตแพทย์ในปัจจุบันมักจะใช้ยาชาแบบทาก่อนที่จะฉีดกับเข็มฉีดยา บางครั้งหมอถอนฟันเสร็จเรียบร้อยแล้วคนไข้ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าถอนออกไปแล้ว
แต่ก็อย่างที่บอกไปในข้างต้น ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ต้องการจัดฟันจะต้องถอนฟัน คนที่จัดได้โดยไม่ต้องถอนฟันเลยแม้แต่ซี่เดียวก็มีครับ เยอะด้วย การที่จะจัดแบบถอนฟันหรือไม่ถอนฟัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าหมอต้องการถอนนะครับ แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะการเรียงตัวของฟันและลักษณะของขากรรไกรที่ต้องการจะจัดว่าเป็นเป็นอย่างไร
การจัดฟันร่วมกับการถอนฟัน
โดยทั่วไปกรณีที่ต้องจัดฟันร่วมกับถอนฟันจะมี 2 กรณี คือ 1. ฟันยื่นมาก 2. ฟันซ้อนเกมาก เนื่องจากการที่มีฟันยื่นและฟันซ้อนเกจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า ขนาดของขากรรไกรของเรา ไม่ใหญ่พอที่รองรับฟันทุกซี่ให้สามารถเรียงกันได้
ให้นึกถึงกระถางธูปก็ได้ครับ สมมติเรามีธูปอยู่ 32 ดอก ถ้าเราต้องการจะปักเข้าไปในกระถางใหญ่ๆ(ขากรรไกรใหญ่)ให้เป็นระเบียบสวยงาม ก็สามารถปักได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากกระถางเล็กเกินไปล่ะ? ถ้าเราพยายามปักธูปทั้งหมดเข้าไป ก็คงจะปักตรงๆไม่ได้
ธูปเยอะ กระถางเล็ก ธูปก็จะเบียดเสียดกัน และบางดอกเฉียงออกมา
ดังนั้นถ้ากระถางธูปของเราเล็ก(ขากรรไกรเล็ก) ธูปก็จะเรียงกันแบบเบียดเสียดมาก(ฟันซ้อนเก) บางดอกก็ต้องยื่นเฉียงๆออกมา(ฟันยื่น) ทางที่จะทำให้ธูปที่มีสามารถเรียงกันได้สวยงาม ก็คงจะต้องยอมเอาธูปบางดอกออกมา(ถอน) ให้มีพื้นที่เหลือเพียงพอสำหรับให้ธูปที่เหลือเรียงเป็นระเบียบได้ พอจะเห็นภาพกันรึยังครับ ว่าทำไมต้องถอนฟัน
ถอนเอาธูปบางดอกออกมา ธูปที่เหลือก็สามารถเรียงเป็นระเบียบได้
ที่นี้มักจะเกิดคำถามขึ้นมาบ่อยๆครับ ว่าแล้วถ้าเรามีฟันซ้อนเกเยอะ แต่ไม่อยากถอนล่ะ จะจัดได้มั้ย??? คำตอบคือ ได้ครับ แต่ แต่ๆๆ จะจัดออกมาสวยมั้ย นั่นคืออีกเรื่องครับ ก็ขอเปรียบเทียบกับกระถางธูปอีกครั้ง เวลาเราพยายามปักธูปทั้งหมดให้ลงไปในกระถางเล็กๆ ทางเดียวที่จะปักให้เป็นระเบียบได้ก็คือ ต้องปักเอียงๆออกมาจากกระถางนั่นเองครับ พูดง่ายๆก็คือ ถ้าฟันซ้อนเกเยอะ แต่เราไม่ยอมถอนฟัน ยิ่งจัดไป ฟันยิ่งเรียงตัว ก็จะยิ่งยื่นออกมานั่นเองครับ
คำถามถัดมาคือ แล้วถ้าไม่ถอน 4 ซี่ล่ะ ถอนแค่ 3 ได้มั้ย 2 ได้มั้ย??
ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องจัดฟันแบบถอนฟัน แล้วต้องถอน 4 ซี่เสมอไปครับ แต่ส่วนใหญ่ ถ้ามีฟันครบปกติดี ตำแหน่งฟันขึ้นค่อนข้างปกติ ก็จะถอน 4 ซี่ครับ เนื่องจากการจัดฟันที่สวยงามนั้น ปัจจัยสำคัญมากอย่างหนึ่งคือ “ความสมมาตร”
การจะดึงฟันให้เข้าที่เป็นระเบียบเราต้องการดึงให้เข้าที่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา การถอนฟันเพียงข้างเดียวแล้วดึงไปข้างเดียว แน่นอนว่าจะทำให้ฟันหน้าของเราเบี้ยวไปในด้านที่เราถอน ลองนึกดูนะครับว่าถ้าฟันหน้าเราเบี้ยว มันจะสวยรึเปล่า แน่นอนว่าไม่ครับ ทีนี้การดึงฟันบนเข้า เราก็ต้องดึงฟันล่างเข้าด้วย ไม่อย่างนั้นฟันก็ไม่สบกันอีก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องถอน 4 ซี่ บนขวา บนซ้าย ล่างขวา ล่างซ้าย เหตุผลก็คือเรื่องความสมมาตรนี่เองครับ ลองดูการจัดฟันแบบนี้ในคลิปวิดีโอนี้นะครับ (กดไปเข้าดูใน youtube นะครับ เครดิตเจ้าของคลิปครับ)
การจัดฟันร่วมกับถอนฟันกรามน้อย 4 ซี่
แต่ก็ยังมีฟันอีกหลายๆรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องถอนฟันถึง 4 ซี่ จะลองยกตัวอย่างให้ดูนะครับ
- ฟันไม่ครบโดยกำเนิด ฟันไม่ครบ 32 ซี่อยู่แล้ว ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องถอนถึง 4 ซี่
- มีฟันที่ถูกถอนไปก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ก็เพียงถอนฟันให้ครบคู่
- ฟันครบ แต่เบี้ยวโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ก็อาจจะใช้วิธีถอนฟันฝั่งตรงข้ามเพียงซี่เดียวกับฟันหน้าที่เบี้ยวไป เพื่อดึงฟันให้กลับมาตรง
- ฟันยื่นและซ้อนเกแค่ฟันบน ฟันล่างซ้อนเกเพียงเล็กน้อยและไม่ยื่น กรณีนี้อาจจะแค่ถอนฟันคู่บนเท่านั้นครับ (คลิปประกอบด้านล่าง)
- สูญเสียฟันหลังไปแล้วหลายซี่ แต่ฟันหน้าก็ยังยื่นและซ้อนเก หมอจัดฟันจะใช้วิธีอื่นๆและอุปกรณ์พิเศษอื่นๆร่วมด้วย เพื่อลดการสูญเสียฟันโดยไม่จำเป็นเพิ่ม
การจัดฟันโดยถอนฟันเพียงคู่บน
แล้วถ้ามีฟันยื่นและซ้อนเก แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่อยากถอนล่ะ สามารถจัดให้ฟันเข้าที่ได้หรือไม่?
ถ้าหากฟันยื่นและซ้อนเกไม่มากจนเกินไป ก็ยังมีวิธีอื่นๆบ้างในการช่วยให้ฟันเข้าที่
- การเหลาฟัน ตะไบฟัน (Inter-proximal reduction)
- จะใช้ในกรณีที่มีฟันซ้อนเกเล็กน้อยหรือฟันยื่นเล็กน้อย ซึ่งจะสามารถตะไบได้มากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับขนาดเดิมของฟัน ถ้าฟันซี่ใหญ่ก็สามารถตะไบได้ โดยทั่วไปจะตะไบฟันได้ด้านละ 0.25 มิลลิเมตร ถ้าตะไบมากเกินไปอาจจะทำให้เสียวฟันได้
- การปักหมุดจัดฟันเพื่อดึงฟันทั้งชุดให้เข้าไปด้านใน (En-Masse distalization)
- สามารถทำได้ในกรณีฟันยื่นน้อยถึงปานกลาง แต่โดยทั่วไปจะต้องถอนฟันคุดออกก่อนด้วย
การเหลาฟัน ตะไบฟัน (Inter-proximal reduction)
การใช้หมุดจัดฟันเพื่อดึงฟันทั้งชุดไปด้านหลัง
โดยทั้ง 2 วิธีนี้เป็นเพียงวิธีเพิ่มเติมที่ทันตแพทย์จะต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง และไม่อาจจะทดแทนการถอนฟันได้ในกรณีที่ฟันยื่นและซ้อนเกมาก อย่างไรก็ตามถ้าเราอยากทราบว่าจะจัดฟันได้โดยใช้วิธีอะไร ต้องปรึกษาทันตแพทย์จัดฟันก่อนนะครับ
หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว หวังว่าผู้อ่านคงจะได้เข้าใจกันมากขึ้นว่า การจัดฟัน ไม่ได้จำเป็นต้องถอนฟันเสมอไป และการถอนฟันก็มีเหตุผลของการถอนมารองรับเสมอ อย่างไรก็ตาม บทความนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แผนการรักษาอย่างละเอียดและถูกต้องจะต้องวางแผนโดยทันตแพทย์จัดฟันผู้เชี่ยวชาญและมีตัวช่วยในการวินิจฉัยรองรับด้วย ได้แก่ การตรวจฟันอย่างละเอียด ภาพ X-ray กะโหลกศีรษะ แบบพิมพ์ฟันเพื่อวินิจฉัยการจัดฟัน เพื่อเพิ่มความละเอียดให้กับแผนการรักษาที่สุด ว่าแล้ว ถ้าต้องการจัดฟันก็มาปรึกษาหมอจัดฟันกันได้เลยครับ
หากคำถามหรือข้อสงสัยใดๆเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ใน comment ด้านล่างเลยนะครับ
แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน