Retainer ใส่ใจกับรีเทนเนอร์ซักนิด ฟันชิดเรียงสวย

ทพ. เสริมศักดิ์ จิณณวณิชย์ DDS, MSc.จัดฟันLeave a Comment

แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน

รีเทนเนอร์สำคัญอย่างไร



Image

รีเทนเนอร์เป็นอีกหนึ่งปัญหาปวดใจสำหรับคนจัดฟัน 

มีปัญหากันตั้งแต่ลืมทิ้งไว้ในร้านอาหาร กลับไปตามหาก็ไม่เจอ ถึงกับคุ้ยถังขยะก็ยังหาไม่เจอ 

ลืมใส่ไป 3-4 วัน กลับมาใส่อีกครั้งก็ปวดเหลือใจ พูดไม่ชัดบ้าง น้ำลายไหลย้อยบ้าง 

ไม่ใส่นานๆก็ฟันล้ม ต้องไปจัดใหม่อีก เสียเงินค่าจัดฟันสองรอบอีก 

ผู้เขียนเองเคยเจอกระทั่งว่ามีคนที่เคยจัดฟันเสร็จจนใส่รีเทนเนอร์ไปแล้ว เตือนเพื่อนคนที่กำลังจะถอดเครื่องมือจัดฟันว่าไม่ต้องถอดเหล็ก ให้ใส่ไว้อย่างนั้นเรื่อยๆ สบายกว่าใส่รีเทนเนอร์เยอะ T-T หมอฟังแล้วปวดใจ

ต้องขอบอกก่อนเลยครับว่า ไหนๆเราก็จัดฟันกันมาแล้ว นานเสียด้วย เสียค่าใช้จ่ายในการจัดฟันมาก็หลายหมื่น อย่ามาพลาดเอาตอนจบนะครับ เผลอนิดเดียวก็อาจจะเสียเงินหมื่นอีกรอบกลับไปจัดฟันกันใหม่อีก

เรามาดูกันก่อนว่าหน้าที่จริงๆของรีเทนเนอร์นั้นคืออะไร



หน้าที่ของรีเทนเนอร์ (Retainer)

Image

Retain แปลว่า รักษาไว้ สงวนไว้ ดังนั้น Retainer ก็จะแปลว่า เครื่องมือรักษา(สภาพฟัน)ไว้ 

การจัดฟันคือการเคลื่อนฟันจากจุดที่เรียงตัวไม่สวยงามไปยังจุดที่ฟันเรียงตัวสวยงาม แต่หลังจากที่ฟันเคลื่อนที่ไปในจุดที่เราต้องการแล้ว ในช่วงแรกฟันจะยังไม่ยึดกับกระดูกรอบรากฟันและเหงือกอย่างสมบูรณ์ในช่วงแรก 

โดยทั่วไปฟันจะยึดกับกระดูกและเหงือกอย่างสมบูรณ์ใน 6-12 เดือน ในระหว่างนั้นคนไข้อาจจะรู้สึกได้ว่าฟันยังไม่ค่อยแน่น เศษอาหารยังติดได้ง่ายอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในจุดนี้ รีเทนเนอร์จะมีบทบาทสำคัญในการตรึงฟันให้อยู่กับที่ เพื่อช่วยให้กระบวนการยึดของฟันกับกระดูกรอบรากฟันเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ 

หลังจากที่ฟันยึดสมบูรณ์แล้ว การใส่รีเทนเนอร์ไว้ตลอดเวลาอาจจะไม่จำเป็น อาจจะใส่เพียงแค่เวลานอน และค่อยๆลดความถี่ในการใส่ไปเรื่อยๆ ความถี่และระยะเวลาในการใส่ขึ้นอยู่การประเมินในแต่ละบุคคล โปรดสอบถามทันตแพทย์นะครับ


Image

ระยะเวลาในการใส่รีเทนเนอร์

เราควรจะต้องใส่รีเทนเนอร์อย่างมีวินัยมากๆ ในช่วง 6-12 เดือนแรก ใส่ตลอดเวลา ถอดเฉพาะเวลารับประทานอาหารและแปรงฟัน ถ้าไม่ค่อยใส่หรือใส่อย่างไม่มีวินัย แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือ ฟันอาจจะเคลื่อนออกจากที่ๆเราต้องการได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆหลังจากถอดเหล็กจัดฟัน

เปรียบเทียบง่ายๆให้เห็นภาพ ก็เหมือนการขุดล้อมต้นไม้ ย้ายไปยังที่ดินที่ใหม่ ซึ่งเราควรจะต้องค้ำยันลำต้นเอาไว้จนกว่ารากต้นไม้ยึดกับดินอย่างสมบูรณ์ก่อน ถึงจะเอาไม้ค้ำยันออกไปได้ ลองคิดดูว่า ถ้าเราย้ายต้นไม้มา ค้ำไม้เอาไว้บ้าง ไม่ค้ำบ้าง หรือไม่ค้ำเลย จะเกิดอะไรขึ้น??


Image

หลังจากผ่าน 1 ปีแรกไปแล้วเราอาจจะค่อยๆลดความถี่ในการใส่ลงเป็นกลางคืนอย่างเดียว หรือสัปดาห์และ 4-5 คืน โดยขึ้นอยู่กับเคสนะครับ เราต้องใส่นานแค่ไหนอย่างไร สอบถามหมอจัดฟันของเราดูนะครับ 


คำถามที่พบบ่อย

ที่นี้เราจะมาตอบคำถามที่พบกันได้บ่อยๆเกี่ยวกับรีเทนเนอร์ครับ


Q: ทำไมเมื่อไม่ใส่รีเทนเนอร์หลายๆวัน กลับมาใส่ถึงปวดฟัน

A: เนื่องจากฟันยังไม่ยึดกระดูกสมบูรณ์ เมื่อไม่ใส่รีเทนเนอร์ ฟันก็อาจจะเคลื่อนไปตามแรงอื่นๆในช่องปาก ได้แก่ แรงดันของลิ้น แรงเคี้ยวอาหาร แรงดึงกลับของเนื้อเยื่อปริทันต์ เมื่อกลับมาใส่รีเทนเนอร์ รีเทนเนอร์จะพยายามผลักฟันกลับไปตามตำแหน่งเดิมที่ได้พิมพ์ฟันเอาไว้ ทำให้รู้สึกปวดได้คล้ายๆกับเวลาปรับลวดจัดฟันในวันแรกๆ ถ้าหากเราใส่รีเทนเนอร์จนฟันยึดสมบูรณ์แล้ว จะไม่เกิดอาการแบบนี้ขึ้น


Q: ไม่ชอบใส่เวลากลางวัน รู้สึกว่าพูดไม่ชัด ใส่แต่กลางคืนได้มั้ย ใส่ไปตลอดเลยก็ได้

A: หากฟันกับกระดูกและเหงือกยังยึดกันไม่สมบูรณ์ การใส่รีเทนเนอร์แต่กลางคืนตั้งแต่เริ่มต้นถอดเครื่องมือจัดฟัน อาจจะทำฟันเคลื่อนออกในเวลากลางวัน และถูกเคลื่อนกลับในเวลากลางคืน กลับไปกลับมาอย่างนี้ตลอดเวลา ทำให้ฟันไม่สามารถยึดอยู่กับกระดูกได้อย่างสมบูรณ์ซักที

หากรู้สึกว่าพูดไม่ชัด แนะนำให้ใช้รีเทนเนอร์แบบใสแทน ซึ่งจะใส่สบายกว่าแบบลวด รบกวนการออกเสียงน้อยกว่า

Image

รีเทนเนอร์แบบใส จะใส่สบายกว่าแบบลวด รบกวนการพูดน้อยกว่า แต่จะมีข้อเสียคือ อายุการใช้งานที่สั้นกว่า


Q: ถ้าจัดฟันเสร็จแล้ว แต่ยังไม่อยากถอดเครื่องมือไปใส่รีเทนเนอร์ ใส่เหล็กไปก่อนอีกซักพักได้หรือไม่ กลัวตัวเองไม่มีวินัยพอที่จะใส่รีเทนเนอร์ได้บ่อยพอ

A: ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลที่รีเทนเนอร์ต้องถอดได้เพราะหมอต้องการคนไข้แปรงฟันได้ง่าย เศษอาหารไม่ติด เพื่อไม่ให้เกิดฟันผุ โรคเหงือก

การทิ้งเครื่องมือจัดฟันไว้ในปากเป็นเวลานานโดยไม่ได้พบทันตแพทย์จัดฟัน หากเกิดปัญหาใดๆขึ้นบางครั้งคนไข้อาจจะไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นมากมาย ได้แก่ ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน โรคเหงือก โรครำมะนาด

Q: ไม่เคยจัดฟัน อยากใส่รีเทนเนอร์ได้มั้ย

A: ได้มั้ยก็เรียกว่าได้ แต่ควรรึเปล่า ก็ไม่ควรเท่าไหร่

เนื่องจากถึงแม้ว่าเราจะสามารถถอดทุกครั้งที่ทานอาหารและแปรงฟันเพื่อที่ได้แปรงฟันได้ง่าย แต่การใส่รีเทนเนอร์ก็ยังรบกวนกระบวนการทำความสะอาดฟันด้วยตัวเองของร่างกายอย่างเช่น การถูฟันของลิ้น การไหลของน้ำลาย อยู่บ้าง ซึ่งก็จะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุขึ้นบ้าง และตัวรีเทนเนอร์เองก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆกับคนไข้แม้แต่น้อย

ยิ่งบางคนไปทำรีเทนเนอร์แฟชั่น หรือกับทันตแพทย์เถื่อน ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่งครับ เนื่องจากการออกแบบรีเทนเนอร์ควรออกแบบโดยทันตแพทย์เท่านั้น การออกแบบรีเทนเนอร์ที่ไม่เหมาะสมอาจจะส่งผลเสีย ทำให้ฟันถูกเคลื่อนไปจากตำแหน่งที่ควรเป็น ไม่ต่างจากการจัดฟันแฟชั่น อีกทั้งยังทำให้ฟันผุง่ายขึ้นอีกด้วย

 

Q: แล้วถ้าฟันสวยอยู่แล้ว ไม่เคยจัดฟัน กลัวว่าต่อไปฟันจะไม่สวย ควรใส่รีเทนเนอร์มั้ย

A: ไม่จำเป็นครับ เพราะ คนที่ฟันสวยอยู่แล้ว แสดงว่าลักษณะโครงสร้างขากรรไกรพอดีกับฟันอยู่แล้ว โอกาสที่ฟันจะเคลื่อนหรือล้ม เรียกได้ว่าน้อยมากๆ 

สาเหตุหลักๆที่ทำให้ฟันเคลื่อนได้ในคนที่ไม่เคยจัดฟันก็คือ การถอนฟันแล้วไม่ใส่ฟันเทียมทดแทน หรือ โรคเหงือกและปริทันต์ ดังนั้น ถ้าฟันเรียงสวยอยู่แล้ว ก็แนะนำให้เน้นการดูแลให้ฟันสุขภาพดี ลดโอกาสการสูญเสียฟัน ซึ่งจะนำไปสู่การล้มของฟันครับ

หรือถ้าต้องการให้ฟันสวยขึ้นอาจจะพิจารณาเรื่องทันตกรรมเพื่อความงามครับ อ่านต่อ


จบไปแล้วนะครับสำหรับเรื่องราวของรีเทนเนอร์ หากเพื่อนๆมีคำถามใดๆ สามารถทิ้ง comment ไว้ได้เลยครับ จะรีบกลับมาตอบให้ครับ



รีวิวจากผู้ใช้บริการคลินิกทันตกรรม108

บริการดี แนะนำการดูแล ใส่ใจทุกขั้นตอน

Arisa Sawamipak Avatar Arisa Sawamipak
August 4, 2022

คลินิกทันตกรรม 108 คุณหมอน่ารัก จัดฟันได้สวยตามที่ต้องการค่ะ พี่ๆผู้ช่วยน่ารักเป็นกันเอง จัดฟันหาดใหญ่มาที่นี่เลยค่ะแนะนำ ❤️💕

Salisa Nice Avatar Salisa Nice
November 15, 2022

positive review  บริการดีมากค่ะ คุณหมอใจดีพูดเพราะ คอบถามตลอดเจ็บไหม

เฌอแตม ณภัทราวรินทร์ Avatar เฌอแตม ณภัทราวรินทร์
February 23, 2021

positive review  ประทับใจมากๆๆ บริการดีมาก สถานที่สะอาดสุด มาทำฟันกันทั้งครอบครัวไปเลยจร้า

เดือนตะวัน ดาวเด่น Avatar เดือนตะวัน ดาวเด่น
November 2, 2019

positive review  ประทับใจคะ บริการดีทั้งคุณหมอเเละพนักงาน

Kanita Sopikul Avatar Kanita Sopikul
August 3, 2018

แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน