แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน
7 สิ่งที่คุณไม่อยากเจอ เมื่อมีฟันผุ
วันนี้ทางคลินิกทันตกรรม 108 จะมาพูดถึงปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เราคิดว่าไม่น่าจะส่งผลให้เกิดปัญหาอะไรมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่ามันอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่โต ถึงขนาดที่ว่าฟังแนวทางการแก้ไขแล้วท้อใจเลยก็เป็นได้
จากผลการสำรวจ สภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2560 พบว่า วัยรุ่นไทยมีฟันผุถึง 62.7% ส่วนวัยทำงานมีฟันผุที่ยังไม่ได้รักษาถึง 43.3% ดังนั้นปัญหาเรื่องฟันผุจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย ตัวคุณผู้อ่านเองก็มีโอกาสถึง 40-60% ที่จะมีฟันผุ เราอาจจะสำรวจได้ด้วยตัวเองเบื้องต้นจากการส่องกระจกดูว่าฟันเราเป็นรู หรือมีรอยดำหรือไม่ หากพบว่ามี หรือสงสัยไม่แน่ใจว่าผุหรือไม่ ควรปรึกษาทันตแพทย์
7 สิ่งที่คุณไม่อยากจะเจอที่จะพูดถึงในบทความนี้ จะเรียงตามลำดับความไม่อยากเจอ จากน้อยไปหามาก ขึ้นอยู่กับว่าคุณปล่อยปัญหาฟันผุเอาไว้นานแค่ไหน ถ้าคุณรีบแก้ไขปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ ปัญหาก็จะหยุดในแค่ขั้นนั้นๆ แต่ถ้าคุณยังไม่ยอมรีบรักษา ป้องกัน หรือทำตามสิ่งที่บทความนี้กำลังจะกล่าวถึง ปัญหาที่จะพบก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงข้อ 7 ได้
- อุดฟัน
มีฟันผุ? จริงๆแล้วมีฟันผุก็แก้ไขง่ายๆโดยการอุดฟัน แต่หลายๆคนกลัวมากจริงๆกับเสียงกรอฟัน แค่ฟังก็เสียวแล้ว หลายคนก็บอกว่าเวลาอุดฟัน ทั้งเจ็บ ทั้งเสียว เลยไม่กล้าไปอุดฟันกัน
ไม่ใช่ทุกคนที่เวลาอุดฟันแล้วจะเจ็บจะเสียวฟัน อาการเสียวฟันระหว่างการอุดฟันโดยทันตแพทย์นั้นหลักๆขึ้นอยู่กับความลึกของฟันที่ผุ ถ้าผุตื้นๆ ก็จะแทบไม่รู้สึกเลย ถ้าผุลึกมากขึ้นอาจจะมีอาการเสียวฟันมากขึ้นระหว่างอุดฟัน ในบางรายหมอฟันอาจจะต้องมีการใส่ยาชาให้ เพื่อให้รู้สึกสบายระหว่างอุดฟัน
ดังนั้น ถ้ากลัวว่าจะเสียวฟัน ระหว่างอุดฟัน ก็ต้องรีบไปพบหมอฟันแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ฟันผุใหญ่ขึ้น เวลาอุดจะได้ไม่เสียวฟันนะครับ ส่วนใครที่ฟันผุใหญ่ไปแล้ว แนะนำว่าให้คุณหมอใส่ยาชาให้ก่อนเริ่มอุดฟันไปเลย เจ็บนิดเดียวเวลาใส่ยาชา ดีกว่าทนเจ็บทนเสียวตลอดเวลาระหว่างอุดฟันนะครับ
ถ้าคุณไม่ยอมอุดฟันที่ผุสักที หรือปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ใส่ใจ สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป เชื่อได้เลยว่าเราไม่อยากเจอซะยิ่งกว่าการอุดฟันแน่นอนครับ
2. รักษารากฟัน
รู้หรือไม่ว่า ถ้าเราเริ่มปวดฟันที่มีรอยผุแล้ว จะไม่สามารถอุดได้อีกแล้ว เนื่องจากอาการปวด เป็นตัวบ่งชี้ว่ารอยฟันผุลึกเข้าไปใกล้โพรงประสาทฟันมากแล้ว ถ้าหากอุดฟัน อาจจะทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นไปอีก อาการปวดที่ว่าหมายถึง ปวดขึ้นมาเองเมื่อไม่ได้มีสิ่งกระตุ้น เช่น น้ำเย็น-ร้อน, เศษอาหารติด แต่ถ้าหากปวดหรือเสียวเพียงเล็กน้อย และแปปเดียวเช่น 1-2 วินาที แล้วหาย อาจจะยังสามารถอุดได้ รีบไปพบทันตแพทย์ทันทีนะครับ
แต่ถ้าหากว่าเราปล่อยปละละเลย จนถึงขั้นที่ไม่สามารถอุดฟันได้แล้ว ถ้าหากยังต้องการเก็บฟันซี่นั้นๆเอาไว้และรักษาอาการปวดฟัน ก็จะต้องรักษารากฟัน (หรือเรียกชื่อให้ถูกต้องว่า รักษาคลองรากฟัน) และโดยส่วนมากของฟันที่รักษารากฟันแล้ว จะต้องทำครอบฟันด้วย เพื่อให้ฟันคงอยู่ถาวร
ปัญหาคืออะไรรู้มั้ยครับ
- ค่ารักษารากฟัน+ครอบฟัน ค่าใช้จ่ายสูงกว่าอุดฟันมากๆๆๆ อุดฟันเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1200 บาท แต่รักษาคลองรากฟันอยู่ที่ 4000-12000 บาท ส่วนครอบฟันอยู่ที่ 8000-15000 บาท เบ็ดเสร็จค่ารักษารากฟันทั้งหมดจนสมบูรณ์จะอยู่ที่ 12000-27000 บาท เห็นมั้ยครับว่าราคาต่างกันขนาดไหน บางเคสอาจจะต้องมีค่าเดือยฟันเพิ่มอีกต่างหาก รายละเอียดการครอบฟัน
- เวลาที่ใช้รักษา โดยทั่วไปอุดฟัน 1 ซี่ใช้เวลาเฉลี่ย 10-30 นาที เพียงครั้งเดียวก็เสร็จ และในการพบทันตแพทย์ 1 ครั้ง คุณสามารถอุดฟันได้หลายๆซี่ (ตราบใดที่อ้าปากไหว ^^) แต่การรักษารากฟัน จะต้องพบหมอเฉลี่ย 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที ยังไม่รวมครอบฟันที่พบหมออีก 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาทีเช่นกัน คุณจะเสียเวลาเยอะกว่ามากหากปล่อยฟันผุที่อุดได้ ให้กลายเป็นรักษารากฟันแทน รายละเอียดการรักษาคลองรากฟัน
แต่ถ้าหากรับไม่ไหว รู้สึกว่าการรักษารากฟันยุ่งยากเกินไป อีกทางเลือกหนึ่งซึ่งบางคนยอมเลือกเพื่อรักษาอาการปวดฟัน คือ “ถอนฟัน”
-
ถอนฟัน
ถอนฟัน
โดยหลักการทันตสากล การถอนฟันเนื่องจากฟันผุไม่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่นับว่าฟันซี่นั้นเสียหายมากเกินเยียวยา เช่น บางคนเล่นปล่อยเอาไว้จนฟันเหลือแต่ตอ (ปวดแล้วปวดอีก หักแล้วหักอีก จนแทบเหลือแต่ตอฟันติดอยู่กับเหงือก)
ทั้งๆที่ฟันยังสามารถรักษาเอาไว้ได้ แต่บางคนก็เลือกถอนฟัน
เพราะอะไร??
ก็เพราะว่าค่าใช้จ่ายในการถอนฟันถูกกว่าการรักษารากฟันแบบคนละเรื่อง ค่าถอนฟันจะอยู่ที่ประมาณ 600-900 บาทโดยเฉลี่ย แต่รักษารากฟันค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ 20,000 บาท
อีกทั้งการถอนฟันยังรวดเร็ว แปปเดียวก็เสร็จแล้ว หลายคนรู้สึกว่าการรักษารากฟัน+ทำครอบฟันยุ่งยาก เสียเวลา จึงเลือกการถอนฟัน
แต่รู้หรือไม่ว่า การถอนฟันนี่แหละ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งเคี้ยวอาหารไม่สะดวก ฟันซี่อื่นเป็นโรคเหงือกได้ง่ายขึ้น ฟันล้ม แต่สิ่งเหล่านี้ป้องกันและแก้ไขได้ด้วยการใส่ฟันปลอม ดังนั้น หลังจากถอนฟัน คนไข้ควรได้รับการใส่ฟันปลอมทดแทนฟันที่สูญเสียไป (ไม่รวมถึงกรณีถอนฟันคุด ฟันเกิน หรือถอนฟันเพื่อจัดฟัน)
-
ใส่ฟันปลอม
ใส่ฟันปลอม
เมื่อคนไข้เลือกการถอนฟันแทนการรักษารากฟัน โดยทั่วไป ทันตแพทย์มักจะแจ้งคนไข้ก่อนจะถอนฟันอยู่แล้ว ว่าจะต้องใส่ฟันปลอมทดแทนหลังจากถอนด้วย บางคนก็คิดว่าใส่ก็ได้ ค่อยว่ากัน ตอนนี้ขอถอนออกไปให้หายปวดก่อน บางคนก็คิดว่าไม่ใส่ก็ได้ ไม่น่าเป็นอะไร เออออตามหมอไปก่อน
โดยส่วนตัวหมอเองมักแจ้งคนไข้ก่อนด้วยว่าฟันปลอมมีหลายแบบ แต่แบ่งง่ายๆเป็นฟันปลอมถอดได้ และฟันปลอมติดแน่น ซึ่งต่างกันที่การใช้งาน
ความต่างหลักๆคือ ฟันปลอมถอดได้ คือ ใส่กลางวัน ถอดกลางคืน แปรงทุกครั้งเมื่อถอดและใส่
ฟันปลอมติดแน่น คือ ติดถาวร ไม่ต้องถอด การดูแลใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ
ฟันปลอมถอดได้ โครงโลหะ/ฐานพลาสติก
ฟันปลอมติดแน่น ชนิดสะพานฟัน/รากฟันเทียม
ถ้าคนไข้ยังไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าฟันปลอมเป็นอย่างไร มีแบบไหนบ้าง เมื่อถามว่าคนไข้ต้องการทำฟันปลอมแบบไหน เกือบ 100% ทุกคนจะบอกว่า ต้องการฟันปลอมติดแน่น ดูแล้วน่าจะใช้สะดวกกว่า
แต่ในความเป็นจริง ฟันปลอมติดแน่นมีราคาสูงมาก และขั้นตอนในการทำยุ่งยากมาก เช่นฟันปลอมแบบสะพานฟัน เริ่มต้นที่ชุดละประมาณ 25000 บาทขึ้นไป หรือฟันปลอมแบบรากฟันเทียม ราคาตั้งแต่ 50000 บาทขึ้นไป รายละเอียดฟันปลอมทุกชนิด
พอคนไข้ทราบอย่างนั้น บางคนก็คิดว่าใส่ฟันปลอมถอดได้ก็ได้ แต่รู้หรือไม่ว่า การปรับตัวให้อยู่กับการใส่ฟันปลอมถอดได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หลายคนถึงกับใส่ได้ไม่กี่วันก็ต้องยอมถอดทิ้ง ใส่ไม่ไหว จะมาเสียใจทีหลังว่าไม่น่าถอนฟันเลยก็ไม่ทันเสียแล้ว บางคนก็ดีหน่อย อดทนจะใส่ได้เป็นปกติเพราะกลัวฟันล้ม
โดยมากคนที่ทนใส่ฟันปลอมถอดได้ได้ คือ คนที่สูญเสียฟันหน้า เพราะว่าถ้าไม่ใส่ เวลาพูดหรือยิ้มก็จะฟันหลอ ไม่มั่นใจ แต่ถ้าเกิดสูญเสียฟันกรามหลังขึ้นมา บอกได้เลยว่าหลายคนอดทนไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่น อายุไม่เยอะ ถอนแค่ 1-2 ซี่ ไม่ยอมใส่แน่นอน
ถ้าเป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพเสียหน่อย ก็จะเข้าใจได้ทันทีหลังจากหมออธิบาย ว่าทำไมหมอถึงไม่อยากให้ถอนฟันแล้วใส่ฟันปลอม ให้รักษารากฟันแทน
ปัญหาขั้นต่อไปจะเกิดขึ้นกับคนที่ถอนฟันทิ้ง แล้วไม่ยอมใส่ฟันปลอมทดแทน
- ฟันล้ม ฟันห่างมากขึ้น
เมื่อทิ้งช่องว่างของฟันที่ถูกถอนไว้ระยะหนึ่ง ฟันจะเริ่มล้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟันกรามล่าง ซึ่งจะทำให้ฟันซี่อื่นๆล้มได้ง่ายมาก ลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ ฟันหน้าจะเริ่มห่าง เศษอาหารติดฟันบนง่ายขึ้น เคี้ยวอาหารได้ยากขึ้น (แต่ก็ยังเคี้ยวได้อยู่ เพราะชินไปแล้ว) ฟันบนจะเริ่มห้อยย้อย รากฟันซี่ห้อยย้อยจะยึดกับกระดูกรอบฟันน้อยลง ทำให้สูญเสียฟันซี่ที่ห้อยย้อยตามไปในเวลาต่อมา
เมื่อฟันเริ่มล้มแล้ว การจะมาใส่ฟันปลอมในช่วงนี้จะได้ทำยากขึ้น เพราะตำแหน่งฟันผิดเพี้ยนไปแล้ว อาจจะต้องยอมใส่ฟันปลอมแบบที่ตำแหน่งไม่สมบูรณ์ บางเคสอาจจะถึงขั้นใส่ไม่ได้เลย ต้องยอมถอนฟันบางซี่ทิ้งเพิ่ม หรืออาจจะต้องจัดฟัน เพื่อแก้ไขฟันที่ล้มไปแล้ว ให้กลับที่เดิมก่อน ก่อนที่จะใส่ฟันปลอมได้
ถ้าหากว่าฟันหน้าห่างไปแล้ว (ตามในคลิป) ทางเดียวที่จะทำให้ฟันหน้ากลับมาชิดเหมือนเดิมได้ คือการจัดฟันหรือการอุดปิดช่องว่างเท่านั้น แต่ แต่ๆๆๆ หลังจากจัดฟันให้ฟันชิดฟันตรงไม่ล้มแล้ว ก็จะยังต้องใส่ฟันปลอมอยู่ดี ถ้าไม่ใส่จะเกิดอะไรขึ้น ลองเดาดูสิครับ.... ถ้าเดาไม่ถูกกลับไปอ่านข้อ 5 ใหม่นะครับ
แต่บางเคสก็สามารถจัดฟันให้ชิดได้เลยโดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม อ่านรายละเอียดการจัดฟันเพื่อปิดช่องว่าง
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปหลังจากปล่อยให้ฟันล้มไปนานๆ จะเริ่มกระทบกับสุขภาพและอวัยวะส่วนอื่นๆด้วย
6. หน้าเบี้ยว ปวดขากรรไกร
นอกเหนือจากฟันล้มแล้ว คนไข้มักจะเคี้ยวอาหารเพียงข้างเดียว ด้วยข้างที่ฟันยังครบดี สิ่งที่ตามมาคือ
- ฟันที่เคี้ยวเพียงข้างเดียว สึกหรอเร็วขึ้น เนื่องจากใช้งานหนัก โดยเฉพาะคนที่กินอาหารเปรี้ยวมากและแข็งมาก
- ฟันข้างที่ไม่ค่อยเคี้ยวอาหาร จะมีคราบอาหารเกาะหนามากขึ้น เสี่ยงต่อโรคเหงือกหรือรำมะนาดและฟันผุมากขึ้น
- การเคี้ยวอาหารข้างเดียวจะทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวอาหารทำงานไม่สมดุลกัน ข้างที่เคี้ยวมาก กรามอาจจะดูโตขึ้น ข้างที่ไม่ค่อยเคี้ยว กล้ามเนื้อจะฝ่อลงบ้าง อาจจะทำให้ใบหน้า2ข้าง ดูไม่เท่ากัน หรือดูเบี้ยวมากขึ้น
- ปวดข้อต่อขากรรไกร การเคี้ยวข้างเดียวและการที่ฟันล้มอาจจะทำให้คนไข้ต้องบังคับขากรรไกรล่างให้เคี้ยวอาหารในตำแหน่งที่เขย่งหรือเยื้อง ซึ่งการที่ข้อต่อขากรรไกรถูกบังคับให้เยื้องนานๆ อาจจะให้เกิดความเสียหายถาวรต่อข้อต่อขากรรไกรได้ คนไข้อาจจะเริ่มมีอาหารปวดหน้าหู มีเสียงกึกกักหน้าหูเวลาเคี้ยวอาหารหรืออ้าปากกว้างๆ ปวดหน้าหูด้านเดียว หรือกรามค้าง
การสูญเสียฟันอาจนำไปสู่การปวดข้อต่อขากรรไกรเรื้อรังได้
ให้ลองเปรียบเทียบดูก็เหมือนกับการที่เรายืนแบบเขย่งข้อเท้านานๆ ซึ่งถ้าเราเดินหรือยืนในตำแหน่งเขย่งเท้าแค่ไม่กี่นาที ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ลองนึกดูว่า ถ้าจะต้องยืนและเดินแบบเขย่งข้อเท้าตลอดเวลาเป็นเวลานานๆ เราจะปวดข้อเท้าแน่นอน และอาจจะทำให้ความเสียหายต่อข้อต่อในระยะยาวอีกด้วย
7. แก่เร็ว
ใครจะไปเชื่อว่าแค่ฟันผุซี่เดียวแล้วถอนทิ้งออกไปจะทำให้เราแก่เร็วได้ แต่มันคือเรื่องจริงครับ การสูญเสียฟันมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมของเราอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กระบวนการเกิดไม่ได้เกิดอย่างทันที แต่จะค่อยๆเป็นค่อยๆไป กว่าที่เราจะรู้ตัว บางครั้งอาจจะสายเกินไปหน่อยแล้ว โดยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากถอนฟันผุออกไปเป็นเวลานานๆได้แก่
- กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานหนักขึ้น การสูญเสียฟันทำให้ต้องเคี้ยวอาหารข้างเดียว หรือต่อให้พยายามเคี้ยวทั้ง 2 ข้าง ก็ความละเอียดในการบดอาหารก็จะน้อยลงอยู่ดี ระบบการย่อยอาหารของร่างกายทำงานหนักขึ้นเพื่อที่จะดูดซึมอาหารให้ได้ปกติ ทำให้ร่างกายสูญเสียพลังงานบางส่วนไปในขั้นตอนนี้แทนที่จะเอาไปใช้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออื่นๆแทน
- ใบหน้าส่วนล่างสั้นลง ดูแก่ขึ้น เมื่อเราบดเคี้ยวอาหารด้วยจำนวนฟันที่น้อยลง จะทำให้อัตราการสึกหรอของฟันที่เหลือมากขึ้น เมื่อฟันสึกลงไปมากๆจะทำให้ขากรรไกรบนและหุบเข้าหากันมากขึ้น ผิวหนังและกล้ามเนื้อจะหย่อนคล้อยมากขึ้น ทำให้ดูมีอายุมากกว่าความเป็นจริง
การสูญเสียทำใบหน้าส่วนล่างสั้นลงได้ ทำให้ใบหน้าดูสูงอายุกว่าอายุจริง
- เกิดตีนกาได้ง่ายขึ้นในกรณีสูญเสียฟันหน้า โดยเฉพาะฟันเขี้ยว เนื่องจากฟันเขี้ยวเป็นฟันที่อยู่มุมริมฝีปาก การสูญเสียฟันไปจะทำให้กระดูกรอบๆรากฟันฝ่อลง ซึ่งจะทำให้มุมปากตก เวลายิ้มอาจจะดูปากเบี้ยว หรือเกิดตีนกาได้ง่ายขึ้น
- อัลไซเมอร์ สมองเสื่อม โรคหัวใจ มีหลายการศึกษาทางการแพทย์พบว่าบุคคลผู้มีจำนวนฟันเหลือน้อยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อมได้บ่อยกว่าผู้ที่มีฟันมากกว่า 22 ซี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีฟันเหลือน้อยกว่า 10 ซี่ ซึ่งนับเฉพาะฟันซึ่งถูกถอนเนื่องมาจากโรคฟันผุหรือโรคเหงือกเท่านั้น (อ้างอิง1)
อย่างไรก็ตามการวิจัยไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุอย่างชัดเจนว่าทำไมการสูญเสียฟันหลายๆซี่ถึงเกี่ยวข้องกับโรคทางสมอง เพียงแต่พบว่ามีความสัมพันธ์เท่านั้น หลายการวิจัยชี้แจงไว้ว่า การสูญเสียฟันหลายๆซี่เป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลๆนั้นไม่ได้ใส่ใจรักษาสุขภาพโดยรวมได้ดีเพียงพอ ทำให้หลายๆส่วนของร่างกายเสื่อมถอย รวมไปถึงสมองด้วย แต่ไม่ว่าการสูญเสียฟันจะเป็นปัจจัยหลักในการเกิดโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์หรือไม่ การดูแลสุขภาพฟันให้สมบูรณ์จะช่วยป้องกันไม่ได้เกิดโรคเหล่านี้หรือช่วยให้โรคไม่รุนแรงมากขึ้นได้ (อ้างอิง2)
บางงานวิจัยก็อ้างอิงและสันนิษฐานว่าผู้ป่วยที่สูญเสียฟันหลายซี่มักจะมีเชื้อก่อโรคหลายชนิดในช่องปากสะสมมากขึ้น เชื้อเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคฟันผุและโรคเหงือก เกิดการอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานานจากสารพิษที่เชื้อโรคเหล่านี้ปล่อยออกมา เมื่อสารพิษเหล่านี้แพร่กระจายไปถึงสมองก็อาจจะก่อให้เกิดโรคทางสมองขึ้นมาได้ สารพิษเหล่านี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย (อ้างอิง3)
สรุป
สรุปก็ง่ายๆ มีฟันผุรีบแก้ไข อย่าปล่อยลุกลาม ทั้งเจ็บตัวมากขึ้น เสียเงินมากขึ้น ถ้าไม่ยอมเสียเงินและเจ็บตัว ก็จะเสียสุขภาพแทน
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณควรพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน การป้องกันราคาถูกและเจ็บตัวน้อยกว่าการแก้ไขนะครับ รู้อย่างนี้แล้ว คนที่ยังไม่ค่อยได้ไปตรวจฟัน รีบไปตรวจกันเลยนะครับ
ถ้าคนไข้อยู่ในหาดใหญ่ หรือสะดวกเดินทางมาที่คลินิกของเรา ทางคลินิกพร้อมดูแลตรวจให้คำปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพช่องปากนะครับ คนที่กลัวหมอฟัน ไม่ต้องกลัวนะครับ คุณหมอของเราน่ารัก ใจดี มือเบา พร้อมให้บริการครับผม
อ้างอิง
แชร์บทความนี้ให้เพื่อนของคุณได้อ่าน